ผู้สูงอายุมีเฮ เมื่อทางเครือข่าย ประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้ผลักดัน ยื่นเสนอร่าง พรบ บำนาญแห่งชาติ เพื่อให้ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าครองชีพ เดือนละ 3,000 บาท เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ ทำให้พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ได้ ถึงแม้บางครอบครัว อาจจะไม่ได้รับเงิน ดูแลจากลูกหลาน ก็ยังทำให้พวกเขาอยู่ได้
ในปัจจุบันนี้สังคมผู้สูงอายุ คนชราส่วนมากยังอยู่ในสภาวะยากจน ไม่มีหลักประกันรายได้เป็นบำนาญดำรงชีพที่เพียงพอ ขณะเดียวกันก็มีระบบบำนาญที่เหลื่อมล้ำกันระหว่างข้าราชการ ลูกจ้าง และคนทั่วไป รัฐจัดสรรงบประมาณเต็มที่ในการจัดบำนาญให้ข้าราชการ ส่วนภาคเอกชน นายจ้าง ลูกจ้างรัฐสนับสนุนระบบประกันสังคมที่มีบำนาญในจำนวนไม่สูงมากนัก แต่ในส่วนของประชาชนทั่วไป รัฐผลักภาระให้เป็นการออมด้วยตนเองโดยสนับสนุนเพียงเล็กน้อย และเมื่อรับเป็นบำนาญก็เป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆมีรายงานข่าวเปิดเผยว่า นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ นำสมาชิกเครือข่ายฯ เข้ายื่นหนังสือถึง 7 พรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ.ในการผลักดันรัฐสวัสดิการให้กับคนไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีหลักประกันรายได้และรองรับสังคมผู้สูงอายุ
โดยทั้งนี้ในร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ ได้เสนอหลักการให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับเบี้ยบำนาญ 3,000 บาทต่อเดือน แทนการได้เงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมเปลี่ยนจากเบี้ยยังชีพเป็นเบี้ยบำนาญทั่วหน้า เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในขณะเดียวกันต้องการให้มีการจัดสรรงบประมาณประเทศใหม่ จัดเก็บภาษีและหามาตรการลดหย่อนภาษีที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะภาษีจากการค้าการลงทุน รวมทั้งปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นและเปลี่ยนเงินสงเคราะห์ต่างๆ ที่ซ้ำซ้อนมาพัฒนาระบบสวัสดิการทั่วหน้าแทน อันเนื่องมาจากระบบสวัสดิการเชิงบังคับในปัจจุบัน เช่น พ.ร.บ.ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ ครอบคลุมคนไทยเพียง 10-15 ล้านคน ในขณะที่คนไทยอีกกว่า 50 ล้านคน ไม่มีหลักประกันด้านสวัสดิการใดๆ
ดังนั้น ทางเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ จึงต้องการร้องขอให้พรรคการเมืองทุกพรรค ร่วมมือกันทำให้เกิดรัฐสวัสดิการและต้องการให้รัฐบาลมีเจตจำนงให้ประชาชนคนไทยทุกคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีหลักประกันด้านรายได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพ หรือรายได้เพื่อดำรงชีพอย่างเหมาะสม
เรียบเรียง 2benews ขอขอบคุณ ประชาไท